วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เรื่องการแจ้งที่พักคนต่างด้าว นับในกรณีที่มาพักชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน

เรื่องการแจ้งที่พักคนต่างด้าว นับในกรณีที่มาพักชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน ถ้าเกินจากนั้นคนเขียนไม่ทราบค่ะ เพราะไม่ได้ถามมา กฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีมาตั้งแต่ปี 2522 อันเนื่องมาจากความมั่นคง โดยปกติแล้วผู้ประกอบการสถานที่พักจะเป็นผู้แจ้งกับตม.ว่ามีคนต่างด้าวมาพัก แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่ทราบกันคือกรณีที่คนต่างด้าวมาพักที่บ้านนั้น เจ้าบ้าน (ตามทะเบียนบ้าน) ต้องเป็นผู้แจ้งตม. ซึ่งหลายๆคนคิดว่าในเมื่อเวลาผ่านตม.แล้ว คนต่างด้าวก็เขียนแจ้งที่อยู่ลงในใบตม.แล้ว (แบบตม.6 สีขาว) ก็น่าจะเพียงพอ แต่ไม่ใช่ค่ะ เพราะในใบตม.6 จะระบุที่พักวันแรกที่คนต่างด้าวเข้ามายังในประเทศไทย ดังนั้น เจ้าบ้าน (ตามทะเบียนบ้าน) ต้องมีหน้าที่แจ้งตม.ภายใน 24 ชั่วโมง วิธีแจ้งคือ
1. เจ้าบ้านต้องมาแจ้งด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นมาแจ้งให้ก็ได้ ถ้าเจ้าบ้านไม่ได้มาเอง ก็ต้องนำบัตรประชาชนของเจ้าบ้านมาด้วย ส่วนลายเซ็นต์ในใบแจ้ง ผู้เขียนไม่ได้ถามว่าคนอื่นเซ็นได้หรือไม่ (คุณสามารถ download แบบฟอร์ม ตม.30 กรอกและให้เจ้าบ้านเซ็นชื่อให้เรียบร้อย แล้วนำไปยื่นเองก็ได้ (กรณีคนในครอบครัวเป็นเจ้าของบ้าน) ถ้าเป็นญาติต้องมีใบมอบอำนาจ และบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
2. แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ส่งไปยัง งานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าวของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ (เก็บใบลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน ในเวบตม.เขาว่า)
3. แจ้งทางอินเตอร์เน็ต โดยเข้าไปลงทะเบียนขอ user ที่ https://extranet.immigration.go.th/fn24online
ปัญหาก็คือระบบไม่ปลอดภัยพอ และ เวบล่มตลอด ผู้เขียนสมัครไป 2 รอบ เมื่อเดือนม.ค.2016 จนวันนี้ยังไม่มีจดหมายตอบรับ โทรไปหาจนท.เขาว่า "รอค่ะน้อง หรือ ทำใหม่สิคะ" ไม่รู้จะทำระบบไว้ทำไมถ้ามันใช้ไม่ได้ (อันนี้ความเห็นส่วนตัว)
4. ผู้เขียนใช้วิธี fax ไปยังตม. ถ้าอยู่ไกลให้แจ้งที่สถานีตำรวจ ในเวบตม.เขาว่างั้น เอกสารที่จะต้อง fax ส่ง มีดังนี้
4.1 แบบฟอร์มตม.30 download ที่นี่ www.immigration.go.th/nov2004/download/tm30.doc
4.2. หนังสือเดินทางหน้าแรก ต่อคนต่างด้าว 1 ท่าน
4.3 หนังสือเดินทาง หน้าที่ตม.ประทับตราเข้าเมือง ต่อคนต่างด้าว 1 ท่าน
4.4 ใบตม.6 ที่จนท.ประทับตราแล้วแนบไว้ในหนังสือเดินทาง ต่อคนต่างด้าว 1 ท่าน
4.5 บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าบ้าน
4.6 สำเนาทะเบียนบ้าน หน้าที่มีเลขที่บ้านและชื่อเจ้าบ้านตามในทะเบียนบ้าน (เจ้าของบ้านอาจจะไม่ใช่เจ้าบ้าน ให้อ้างอิงในทะเบียนบ้าน)
ให้ทำใบปะหน้าบอกให้จนท. fax กลับใบรับการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัยมาด้วย ถ้าไม่ส่งมาให้โทรตามเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสำคัญมาก
** เคยถามจนท.ว่าคำว่าแจ้งภายใน 24 ชั่วโมงถ้าตม.ปิดจะแจ้งอย่างไร ถ้าหากเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาว จนท.ตอบว่าก็ต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง คือคำตอบก็คือคำถาม จนท.บางคนบอกว่า 24h นับจากวันทำการ แต่ผู้เขียนกลับช่วงเทศกาลสงกรานต์จนท.บอกให้ส่ง fax ภายใน 24h เมื่อมาถึง ดังนั้นควรพิจารณาเอาเองค่ะ ที่เขียนมาทั้งหมดก็คือให้ใช้ดุลยพินิจเอาเองค่ะว่าจะแจ้งหรือไม่แจ้ง สำหรับเรื่องค่าปรับต่างๆผู้เขียนไม่ทราบค่ะ เพราะผู้เขียนก็เพิ่งทราบเมื่อต้นปีว่าต้องแจ้ง และพิจารณาเอาเองว่าแจ้งดีกว่า เราไม่รู้ว่าจนท.จะมาตรวจเมื่อไหร่หรืออาจจะเจอแจ็คพ็อต หรืออาจจะมีคนไม่หวังดีมากลั่นแกล้ง จึงขอปลอดภัยไว้ก่อน**
ทั้งหมดทั้งมวลก็คือให้แจ้งตม.ในจังหวัดนั้นเมื่อเดินทางไปถึง 24h เริ่มตั้งแต่ตราประทับขาเข้าวันแรกพักที่ไหนก็แจ้งที่นั่น พอย้ายที่พัก แต่ก็ยังพักตามบ้านเพื่อน บ้านญาติ ก็ต้องแจ้งตม.ไปตามจังหวัดที่ย้าย แต่ถ้าเปลี่ยนใจไปพักโรงแรมก็ไม่ต้องแจ้ง จนกว่าจะออกจากไทย
ที่อยู่ของตม.ทั่วประเทศ
ภาคเหนือ
http://www.immigration.go.th/nov2004/base.php?page=north
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
http://www.immigration.go.th/nov2004/base.php?page=esarn
ภาคกลาง
http://www.immigration.go.th/nov2004/base.php?page=central
ภาคใต้
http://www.immigration.go.th/nov2004/base.php?page=south
รายละเอียดเพิ่มเติม หัวข้อเขียนว่าสำหรับผู้ประกอบการ แต่จริงๆก็คือสำหรับบ้านพักด้วยค่ะ http://www.immigration.go.th/nov2004/base.php?page=alienstay


ตัวอย่างใบตม.6



หน้าตา แบบฟอร์ม ตม.30




ใบรับการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย

 
 


 

วิธีปฏิบัติตัวยามเกิดปัญหาความรุนแรงทางครอบครัวในในฝรั่งเศส


ความรุนแรงในครอบครัว ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า la violence conjugale ผู้ที่ทำร้ายก็คือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน อาจจะเป็นด้วยทั้งวาจา จิตใจและร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคำพูดดูถูกเสียดสี (mépris),คุกคาม (ménace), ทำลายทรัพย์สิน (destruction de biens) ทำร้ายร่างกาย ถ้าหากว่ามันมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้นแล้ว เราจึงควรเตรียมตัวและเตรียมใจไว้แต่เนิ่นๆ เมื่อโดนคำพูด ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ว่าจะโดนกล่าวหาว่าเป็นโสเภณี อะไรก็ตาม ให้อัดเสียงหรือคลิปเอาไว้ ถ้าอีกฝ่ายทำลายข้าวของพยายามอัดคลิป เพื่อเป็นหลักฐานให้ได้มากที่สุด และถ้าถึงขั้นโดนทำร้ายร่างกายให้รีบไปตรวจร่างกายเพื่อเป็นหลักฐาน
- กรณีที่ต้องอยู่ในสถานการณ์อาจถึงแก่ชีวิต ให้แจ้งตำรวจ หมายเลข 17 หรือ 112 ถ้าเป็นโทรศัพท์มือถือ
- กรณีที่ได้รับบาดเจ็บให้โทรหา samu (service médical d’urgence) หมายเลข 15
- กรณีโดนไล่ออกจากบ้านยามดึก ให้โทรหา samu social หรือกาชาด (croix-rouge) หมายเลข 115 หรือ ขอความช่วยเหลือจากสถานีตำรวจใกล้บ้าน
- หมายเลขโทรศัพท์ 3919 เป็นของสมาคมและอาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง มีทั้งให้คำปรึกษาทั้งด้านกฎหมาย หาบ้านพักฉุกเฉิน ไปเป็นเพื่อนยามที่ต้องปรึกษานักจิตวิทยา เวลาทำการจันทร์ - เสาร์ 7h30 - 23h30 วันหยุดราชการ 10h - 20h (ถ้าจำเป็นทางศูนย์สามารถโทรหาคุณได้) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.stop-violences-femmes.gouv.fr/
การตรวจร่างกาย
ควรจะไปตรวจร่างกาย (l'examen médical) ก่อนแจ้งความ สถานที่ตรวจร่างกาย
1. แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล
2. หมอ médecin généraliste ที่คุณสังกัดอยู่ คุณควรที่จะจด หมายเลขโทรศัพท์ของคุณหมอ généraliste ของคุณไว้กับตัว
3. ถ้าใน Paris Au service des urgences médico-judiciaires (UMJ) de l’Hôtel-Dieu - 1, place du Parvis Notre-Dame - 75004 Paris หมายเลขโทรศัพท์ 01 42 34 82 85/29 (24h)
การแจ้งความ (Dépôt de plainte)
ควรจะรีบแจ้งความ ถ้าตัดสินใจแน่วแน่ว่าต้องการเอาเรื่อง ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ให้บอกจนท.ตำรวจว่า porter plainte หรือ une plainte แต่ถ้าไม่ต้องการดำเนินคดีใดๆ ต้องการเพื่อบันทึกเป็นหลักฐาน ให้บอกว่า ขอลงบันทึกประจำวัน (une main courante) บันทึกเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการพิจารณาคดีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ถ้าต้องการย้ายออกจากบ้านพร้อมลูก( Départ volontaire) ในขณะนั้น ให้ทำ une main courante เพื่อที่จะนำลูกออกมาอยู่ด้วย เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก คุณจะได้ไม่ถูกแฟนของคุณ (พ่อหรือแม่เด็ก) แจ้งความข้อหาลักพาตัวลูก เพื่อนที่คอยให้ความช่วยเหลือก็เหมือนกัน ต้องให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทำ une main courante ก่อน ไม่งั้นคุณเองก็จะเดือดร้อนเช่นกัน
ถ้าตั้งใจฟ้องหย่าและเลิกกันถาวร ให้คุณแจ้งความประสงค์ที่สถานีตำรวจว่าทำ l'abandon du domicile conjugal เพื่อแยกกันอยู่ตามกฎหมาย
การขอความช่วยเหลือทางด้านต่างๆ
1. คุณควรศึกษาว่าในเมืองคุณมีสมาคมอะไรบ้างที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีความรุนแรงทางครอบครัว สามารถสอบถามได้ที่ la mairie หรือ สถานีตำรวจเขตคุณ หรือใช้ google ให้เป็นประโยชน์ ใช้คำว่า association violence conjugale ตามด้วยชื่อเมือง หรือบางครั้งสามารถขอความช่วยเหลือจากกาชาดฝรั่งเศสได้ (croix rouge)
2. ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย หลายเมือง la mairie มีบริการให้คำปรึกษาฟรีทางด้านกฎหมาย โดยที่จะต้องนัดเวลาก่อน ทนายฟรีหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายสามารถติดต่อได้ที่ tribunal d'instance หรือศาล การขอทนายฟรีใช้เวลานานและไม่ใช่ว่าจะได้ทุกคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง
3. ความช่วยเหลือทางด้านสังคมและที่อยู่อาศัย คุณสามารถขอความช่วยเหลือได้จาก นักสังคมสงเคราะห์(assistante sociale) ได้ ส่วนจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์สังกัดใดขึ้นอยู่กับว่า คุณต้องการความช่วยเหลือทางด้านใด
- ถ้าคุณมีลูกเล็กๆ คุณต้องขอความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ (assistante sociale) สังกัด PMI ( Protection Maternelle et Infantile)
- ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล ให้ติดต่อ นักสังคมสงเคราะห์ (assistante sociale) สังกัด ของโรงพยาบาลของรัฐ
- ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย การดำรงชีวิต ให้ติดต่อ นักสังคมสงเคราะห์ (assistante sociale) สังกัด caf
** assistante sociale หรือจนท.ศาล สามารถจัดหาล่ามให้คุณได้ แต่คุณก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยเพราะในบางครั้งนักแปลอาชีพนั้นมีน้อยและหายาก จึงต้องอาศัยอำนาจศาลแต่งตั้งล่ามให้ ซึ่งล่ามเองก็ไม่ได้มีความชำนาญมากพอที่จะแปลภาษาทางกฎหมายได้แม่นยำเหมือนกัน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าอย่าทิ้งโอกาสที่เรียนภาษา แล้วก็อย่าหวังพึ่ง assistante sociale มากเกินไป เพราะบางครั้งสิ่งที่คุณหวังจะได้ อาจจะไม่เป็นไปดั่งที่คุณหวังจากเขา เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และลำดับความสำคัญของปัญหา***
ประเทศฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นอันมาก จะไม่ถือว่าเป็นเรื่องของผัวๆเมียๆ ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็มีมากเช่นกัน
ข้อเท็จจริง
1. คู่สมรสของคุณมีสิทธิ์ในการถอดถอน titre de séjour ของคุณ ในกรณีที่บัตรเป็นประเภท vie privée et familiale แต่ถ้ากรณีที่คุณเป็นเหยื่อของความรุนแรง คุณสามารถเปลี่ยนสถานะของบัตรได้ค่ะ จึงไม่ต้องกลัวว่าจะถูกส่งกลับ หลักฐานที่สำคัญคือใบแจ้งความและใบตรวจร่างกายกรณีที่ไม่มีบุตรด้วยกันหรือบุตรไม่ใช่สัญชาติฝรั่งเศส ถ้าคุณมีบุตรสัญชาติฝรั่งเศส titre de séjour ก็จะเปลี่ยนสถานะเป็น ผู้ปกครองเด็กฝรั่งเศส **ยกเว้นแต่งงานและอยู่ร่วมกันมาไม่น้อยกว่า 3 ปีขึ้นไป คู่สมรสฝรั่งเศสไม่สามารถแจ้งถอดถอน titre de séjour ได้ **
2. อย่าพยายามคิดพาบุตรหนีกลับไทยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากพ่อหรือแม่ของเด็ก เพราะไทยกับฝรั่งเศสมีสนธิสัญญาเรื่องการลักพาตัวเด็กอย่างผิดกฎหมาย ในกรณีที่คู่สามีภรรยาไทย-ฝรั่งเศสมีความขัดแย้งกัน และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแอบพาลูกหนี ไม่ว่าจะหนีกลับฝรั่งเศสหรือหนีกลับไทยนั้น เด็กจะต้องถูกส่งกลับคืนมายังพ่อแม่ที่ได้รับความยินยอมจากศาล และฝ่ายที่ลักพาตัวเด็กอาจจะโดนดำเนินคดี ดังนั้น หากท่านกำลังคิดจะทำการใดๆ หรือเกิดปัญหานั้นแล้ว ที่เมืองไทยให้ติดต่อสถานฑูต 02.657.51.51 ที่ฝรั่งเศสติดต่อ http://www.justice.gouv.fr/justi…/enlevement-parental-12063/ ที่สำคัญคุณอาจจะถูกดำเนินคดีและเสียสิทธิ์ในการปกครองเด็ก
3.ถ้าหากต้องการกลับไทยแต่ไม่มีเงิน คุณสามารถขอทำสัญญากู้ยืมเงินกับสถานฑูตไทยประจำปรุงปารีสได้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หรือเพื่อให้เดินทางกลับภูมิลำเนาในประเทศไทย แล้วแต่กรณี ซึ่งการให้ความช่วยเหลือนี้ ไม่ใช่เป็นการชดใช้ความเสียหาย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถให้คนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนทำสัญญายืมเงินของทางราชการได้เท่าที่ต้องจ่ายตามความจำเป็น ได้แก่ ค่าพาหนะในการเดินทางกลับประเทศไทย ในอัตราต่ำสุด ค่าอาหารระหว่างรอรับความช่วยเหลือ และระหว่างเดินทางกลับประเทศไทย ค่าเช่าที่พักในระหว่างรอและระหว่างการเดินทาง (ถ้าจำเป็นต้องมี) ในอัตราต่ำสุดของอัตราที่พักในท้องถิ่นนั้น โดยตามระเบียบ ผู้ยืมจะต้องชดใช้เงินดังกล่าวกับทางราชการเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว
4. ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของตนเอง ความรู้ต่างๆทางด้านกฎหมาย ทั้งฝั่งไทยและฝั่งฝรั่งเศส เรื่องการหย่า การแบ่งทรัพย์สินทั้งหลาย สิทธิ ต่างๆนั้น คุณเอามาถามในบ้านสะใภ้ มันก็เป็นประสบการณ์ของคนๆ หนึ่ง ให้อ่านและเป็นความรู้ แต่อย่าเปรียบเทียบ เพราะกรณีแต่ละกรณีไม่เหมือนกันไปทั้งหมด ถ้าคุณอยากทราบเรื่องกฎหมาย ควรจะปรึกษาทนายความ หรือ ถ้าเป็นเรื่องของทรัพย์สินปรึกษา Notaire นอกจากนั้นแล้วทาง สำนักงานอัยการสูงสุด นั้นมีหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายสำหรับคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ คือ "สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ" คุณจึงควรใช้ประโยชน์ในการสอบถามทางด้านกฎหมายต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องหย่า เรื่องข้อขัดแย้งเกี่ยวกับบุตร สิทธิ์ในมรดก สิทธิ์ในทรัพย์สิน etc..
ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ (สฝคป.)
สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ : 0-2142-1532, 0-2142-1533
Website http://www.humanrights.ago.go.th/
กระดานถามตอบปัญหากฎหมาย http://www.humanrights.ago.go.th/forum/index.php?board=2.0
จนท.ที่สำนักงานมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายในฝรั่งเศสเป็นอย่างดี และสามารถให้คำตอบดีที่สุดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือฝรั่งเศส
5. ความช่วยเหลือจากกรมการกงสุล ขั้นตอนการให้บริการช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ http://www.consular.go.th/…/57600-ขั้นตอนการให้บริการช่วยเห…
6. ควรจะเก็บเอกสารสำคัญไว้กับตัว เช่น titre de séjour,หนังสือเดินทาง,การ์ดวิตาล ,livret de famille etc. ทั้งของลูกและของคุณเอง และทำสำเนาเอกสารเอาไว้ใน USB ตั้งรหัสล็อคเอาไว้ หรือในอีเมลของคุณเอง
หมายเหตุ
1. หมายเลขโทรศัพท์ ชมรมสตรีไทยในประเทศฝรั่งเศส 01 42 73 38 09 หรือ 06 45 51 49 47
2. หมายเลขโทรศัพท์สถานฑูตไทย ประจำกรุงปารีส 01 56 26 50 50 หมายเลขฉุกเฉิน 06 03 59 97 05 และ 06 46 71 96 94 (กรุณาโทรเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น)
ข้อแนะนำ
ก็คือ การเรียนภาษา และ การอบรม ถึงคุณจะมีความจำเป็นอย่างไร ก็อย่าทิ้งสิทธิ์เหล่านี้ เพราะมันจะเป็นประโยชน์ต่อคุณเอง การอยู่อาศัยในตปท. มีข้อจำกัดอย่างมากมาย ทั้งด้านภาษา เป็นต้น ควรจะทำตัว "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อน" ผู้อื่นไม่สามารถคอยช่วยเหลือคุณได้ทุกฝีก้าว ดังนั้นคุณก็ควรจะศึกษาสิ่งที่อยู่รอบตัว บทสนทนาขั้นพื้นฐาน การขอความช่วยเหลือ หน่วยงานที่จะต้องติดต่อไว้บ้าง จะได้ไม่รู้สึกเหมือนโลกถล่มอยู่ตรงหน้าเมื่อเกิดปัญหา ยิ่งปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาที่ซับซ้อนยุ่งยาก คนช่วยบางทีก็ต้องเจ็บตัวเหมือนๆกัน ทั้งยังอาจจะต้องดึงคนในครอบครัวไปเกี่ยวข้อง อาจจะทำให้คนคอยช่วยเหลือมีปัญหาเสียเอง คุณควรจะต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่าหวังพึ่งแต่คนอื่น เพราะมีหลายครั้งก็มีพวกมิจฉาชีพเข้ามาใช้ประโยชน์จากคุณ จึงขอเตือนไว้ค่ะ